เนื้อหา |
---|
ความเป็นมาของการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวสมัยแรกจำกัดเฉพาะในหมู่ผู้มีอันจะกิน พัฒนาการสู่มวลชนเริ่มขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นสังคมเปลี่ยนจากเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรม ทำให้มีวัน เวลาทำงานและวันหยุดที่แน่นอน ทำให้ ชนชั้นกลางเริ่มเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
ในสมัยเริ่มแรกการเดินทางของมนุษย์เดินทางโดยมีวัตถุประสงค์ 5 ประการ คือ
1. แสวงหาถิ่นฐาน หรือเผชิญโชค เช่น การค้นพบทวีปอเมริกาของโคลัมบัส การเดินทางของมาร์โคโปโล
2. ติดต่อค้าขาย เช่น การเดินทางโดยเรือสำเภามาค้าขายในไทยของจีน
3. จาริกแสวงบุญ เช่น การเดินทางของพระสังคำจั๋ง การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของมิชชั่นนารี
4. เชื่อมความสัมพันธ์ เช่น การเจริญสัมพันธ์ทางการทูต
5. รักษาสุขภาพและอนามัย เช่น การเดินทางไปรักษาโดยการฝังเข็มที่ประเทศจีน
สำหรับประเทศไทย การท่องเที่ยวในสมัยแรก ๆ พบว่าเป็นการเดินทางด้วยเหตุผลดังนี้ คือ
ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย , ไปทำสงคราม , ถูกเนรเทศ , ไปเยี่ยมญาติ , จาริกแสวงบุญ ,แสวงโชค ,รักษาสุขภาพ , ท่องเที่ยว , เชื่อมความสัมพันธ์ ,หาความรู้และประสบการณ์ จากหลักฐานทางวรรณกรรม เริ่มในพุทธศตวรรษที่ 19 พ่อขุนรามคำแหงเสด็จเยือนประเทศจีน 2 ครั้ง และในพุทธศตวรรษที่ 23 ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ทรงเสด็จประพาสทางเรือ ,สมเด็จพระเพทราชาทรงโปรดการประพาสในที่
ต่าง ๆ พระมหากษัตริย์ที่เป็นนักท่องเที่ยว คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จทั้งในและต่างประเทศ เรียกว่าเสด็จประพาสต้น
การท่องเที่ยว หมายถึง การเคลื่อนที่ของคนจากที่เดิม ไปยังจุดหมายปลายทางอีกแห่งหนึ่งด้วยความสมัครใจ และเป็นการเดินทางไปแล้วกลับ เป็นการเดินทางชั่วคราว ใช้เวลาพำนัก ณ ที่จุดหมายปลายทาง เพื่อพักผ่อนพร้อมแสวงหาความสุข ความสบาย ประสบการณ์และความรู้ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วเดินทางกลับ ไม่ได้รับรายได้เพื่อยังชีพจากเจ้าของท้องถิ่นปลายทาง
การท่องเที่ยว ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
1. คน หมายถึง นักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทาง (ด้วยความสมัครใจ)
2. สถานที่ หมายถึง จุดหมายปลายทางหรือจุดผ่านที่เขาตั้งใจจะเดินทางไป
3. เวลา หมายถึง ระยะเวลาที่เขาพำนักเพื่อแสวงหาความสุข ความสบาย ความรู้ หรือประกอบธุรกิจ (เป็นการชั่วคราว)