เนื้อหา |
---|
ชนิดของการท่องเที่ยว
จากมูลเหตุจูงใจที่ทำให้เกิดการเดินทางการท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน ในปัจจุบัน ระบบ
การท่องเที่ยวสากลได้จำแนกชนิดของการท่องเที่ยว ได้ดังนี้
1. การท่องเที่ยวเพื่อความสนุก
นักท่องเที่ยว จะใช้วันหรือเวลาหยุดงาน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นเพื่อพบในสิ่งแปลก ๆ และอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อชมทิวทัศน์อันสวยงามของชนบท เพื่อพบเห็นขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น เพื่อสนุกสนานกับแสงสีเสียงของสถานที่นั้น ๆ และความสวยงาม
โอ่อ่าของอาคารในเมืองใหญ่ และเมืองศูนย์การค้าการท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้จะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความสนุกสนานทั้งสิ้น เช่น ไป Shopping ที่โตเกียว, ล่องแก่งที่นครนายก , เที่ยวดิสนีย์แลนด์ที่อเมริกา , พายเรือแคนู , เล่นบันจี้จั๊ม , ปีนเขา , ปั่นจักรยานภูเขา , ดำน้ำดูปะการัง , เล่นเจ็ตสกี , ดูหนัง ฟังเพลง เป็นต้น
2. การท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน
นักท่องเที่ยวจะใช้วันหยุดเพื่อการพักผ่อน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นใด เพื่อขจัดหรือบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานที่ผ่านมาให้หมดสิ้นไป เพื่อเรียกกำลังกายและกำลังใจให้กลับคืนมาสำหรับการทำงานต่อไป บางคนไปพักฟื้นเพราะการเจ็บป่วย นักท่องเที่ยวพวกนี้จึงไปพักในที่ที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุด เช่น ช่วงปีใหม่ ,ตรุษจีน , สงกรานต์ ก็จะไปเที่ยวกับครอบครัว สงบ และเรียบง่าย อาจเดินทางไปหาครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัด เป็นต้น
3. การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
นักท่องเที่ยวที่ปรารถนาจะเรียนรู้ศิลปวิทยา ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ ในสถาบันหรือสถานศึกษาที่มีชื่อเสียง หรือในประเทศที่มีวัฒนธรรมน่าสนใจ เขาอาจจะไปประเทศนั้น ๆ เพื่อศึกษาหาความรู้ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความเป็นอยู่ในแง่มนุษย์ศึกษาและสังคม โบราณสถาน โบราณวัตถุ ความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยีปัจจุบัน ศิลปะนานาชนิด หรือเพื่อไปนมัสการศูนย์ศาสนาที่สำคัญ การร่วมในงานมหกรรมงานฉลอง งานพิธีการที่สำคัญต่าง ๆ การชมการแสดงครั้งสำคัญ ๆ เป็นต้น เช่น ชมแสงสีเสียงที่อยุธยา , การพักแบบโฮมสเตย์ , การร่วมกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา เช่นการรดน้ำดำหัวในวันสงกรานต์, การลอยกระทงในวันลอยกระทง , การแห่เทียนในวันเข้าพรรษา เป็นต้น
4. การท่องเที่ยวเพื่อการกีฬา แบ่งเป็น
4.1 การไปชมการแข่งขัน เช่น ไปชมบอลโลกที่ออสเตรเลีย ไปดูซีเกมส์ที่บรูไน
4.2 การไปเล่นกีฬา เช่น นักกีฬาเกือบทุกประเทศเดินทางไปแข่งกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน, ทีมรวมดาราช่อง 3 ไปแข่งฟุตบอลกับทีมรวมนักข่าวบันเทิงที่ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
5. การท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ
ที่จริงการท่องเที่ยวเพื่อประกอบธุรกิจ ไม่น่าจะเป็นการท่องเที่ยว เพราะขาดปัจจัยที่ว่า การท่องเที่ยวต้องเป็นการกระทำอย่างอิสระเสรี และมีความตั้งใจที่จะท่องเที่ยว แต่นักธุรกิจเมื่อติดต่องานธุรกิจเสร็จแล้ว ทุกคนก็จะเจียดเวลาที่จะท่องเที่ยวด้วย เช่น ไปซื้อของฝาก หรือ กลุ่มที่ประชุมนัดหมายไปเที่ยวด้วยกันตามสถานที่ต่าง ๆ
6. การท่องเที่ยวเพื่อการประชุมสัมมนา
ในปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ มีการจัดประชุมสัมมนากันมาก ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างหนึ่ง ในวาระการประชุมจะจัดช่วงให้ผู้เข้าประชุมได้มีโอกาสท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลายความเครียดกันด้วย
7. การท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา
ไปทำวิจัย ไปศึกษาต่อ ไปสอน ไปดูงาน เช่น สมพรเอนทรานซ์ได้ที่มหาวิทยาลัยสงขลา ฯ , ประทีปไปทำวิจัยปริญญาโทที่หมู่บ้านไทยโซ่ง จ . นครปฐม ,บัณฑิตไปดูงานทอผ้าไหมที่ อ.ปักธงชัย
จ.นครราชสีมา เป็นต้น