เนื้อหา |
---|
หลักการที่ 4 การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ
สหกรณ์เป็นองค์กรที่พึ่งพาตนเองและปกครองตนเอง โดยมีการควบคุมจากมวลสมาชิก หากสหกรณ์ จะต้องมีข้อตกลงผูกพันกับองค์การอื่นใด ซึ่งรวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลด้วย หรือจะต้องเพิ่มเงินลงทุนโดยอาศัยแหล่งเงินทุนภายนอกสหกรณ์ สหกรณ์จะต้องกระทำการดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขที่มั่นใจได้ว่ามวลสมาชิกจะยังคงธำรงไว้ซึ่งอำนาจในการควบคุมสหกรณ์ตามแนวทางประชาธิปไตยและสหกรณ์ยังคงดำรงความเป็นอิสระ
การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ เป็นผลต่อเนื่องจากหลักการสหกรณ์ข้อที่ 2 การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย จึงทำให้สหกรณ์เป็นองค์กรที่พึ่งพาและปกครองตนเองโดยการควบคุมของมวลสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ และในกรณีที่สหกรณ์จำต้องมีข้อตกลงหรือผูกพันกับองค์กรอื่นๆ รวมถึงหน่วยงานของรัฐ หรือต้องแสวงหาทุนจากแหล่งภายนอก สหกรณ์ต้องกระทำภายใต้เงื่อนไขอันเป็นที่มั่นใจได้ว่ามวลสมาชิกจะยังคงไว้ ซึ่งอำนาจในการควบคุมตามแนวทางประชาธิปไตย และยังคงดำรงความเป็นอิสระของสหกรณ์ไว้
หลักการที่ 5 การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ
สหกรณ์พึงให้การศึกษาและการฝึกอบรมแก่สมาชิก ผู้แทนสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้ง ผู้จัดการและ เจ้าหน้าที่ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถมีส่วนช่วยพัฒนาสหกรณ์ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิผลและพึงให้ข่าวสารแก่สาธารณชน โดยเฉพาะเยาวชนและบรรดาผู้นำทางความคิดเรื่องคุณลักษณะและคุณประโยชน์ของสหกรณ์
นักสหกรณ์ชาวเดนมาร์ค ผู้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาสหกรณ์ผู้หนึ่งกล่าวว่า “สหกรณ์ใดไม่มีโครงการให้การศึกษาอบรมสมาชิกอย่างต่อเนื่อง สหกรณ์นั้นจะสิ้นสุดภายในชั่วอายุคนครึ่ง” ซึ่งขยายความได้ว่าสหกรณ์นั้นจะเปลี่ยนเป็นองค์กรอื่นที่มิใช่สหกรณ์ หรือเป็นสหกรณ์แต่เพียงชื่อหรือป้ายที่ติดไว้เท่านั้น นั่นแสดงให้เห็นว่าการให้การศึกษาอบรมเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสืบทอดแนวความคิดทางสหกรณ์ หรือเผยแพร่ความรู้ทางสหกรณ์ให้กว้างขวางขึ้น ขณะเดียวกันสหกรณ์ต้องแข่งขั้นกับธุรกิจอื่นๆ ด้วย จึงจำเป็นต้องพัฒนาคนในสหกรณ์ให้มีความรู้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจ

หลักการข้อนี้ นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อสหกรณ์ เพราะจะเป็นหลักการที่ทำให้เกิดการปฏิบัติตามและการใช้หลักการข้ออื่นๆ มีประสิทธิผล หากสหกรณ์ใดละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอบรม สมาชิกจะขาดความสนใจสหกรณ์และไม่เข้าใจหลักกากรที่ถูกต้องจะพากันละเลยต่อสหกรณ์ และในที่สุดการควบคุมภายในสหกรณ์ก็จะเปลี่ยนแปลงจากวิธีการประชาธิปไตย มาเป็นการควบคุมโดยคนกลุ่มน้อย การศึกษาอบรมทางสหกรณ์เป็นการแสดงถึงคุณธรรมของสหกรณ์ที่ต้องการพัฒนาคนให้เป็นผู้ใฝ่รู้
การศึกษาฝึกอบรมและสารสนเทศมีความมุ่งหมายและเน้นกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
- การศึกษามุ่งให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่จะเป็นสมาชิกในอนาคต มี
ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสหกรณ์ รวมทั้งมีความสำนึก และตระหลักในสิทธิและหน้าที่ของสมาชิก ให้ผู้มีจิตวิญญาณสหกรณ์
- การฝึกอบรมมุ่งให้กรรมการ ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์มีความรู้ ความสามารถ
และทักษะ รวมทั้งความรับผิดชอบในบทบา หน้าที่ของตน
- ส่วนสารสนเทศนั้นมุ่งให้บุคคลทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับเยาวชนและผู้นำ
ด้านความคิดเป็น เช่น ผู้นำชุมชน นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ผู้นำองค์กร พัฒนาชุมชน ฯลฯ โดยเน้นการติดต่อสื่อสาร 2 ทาง (Two ways Communication)
หลักการที่ 6 การร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์
สหกรณ์จะสามารถให้บริการแก่สมาชิกได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด และเสริมสร้างความเข้มแข็งในแก่สหกรณ์ได้โดยการร่วมมือกันในทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

การรวมมือกันระหว่างสหกรณ์ หมายความว่า สหกรณ์ทุกประเภท ทุกระดับต้องร่วมมือกันและช่วยเหลือกันและกันในทุกโอกาส ซึ่งความร่วมมือระหว่างสหกรณ์นี้นับวันแต่จะเพิ่มขึ้นทุกขณะเพราะสหกรณ์ต้องเผชิญกับการแข่งขันของธุรกิจอื่นๆ ด้วย ดังนั้น เพื่อความอยู่รอดของสหกรณ์สหกรณ์แต่ละประเภท แต่ละระดับ จึงจำเป็นต้องมีการพึ่งพิงกัน เชื่อมโยงธุรกิจในระหว่างกันด้วยการร่วมมือระหว่างสหกรณ์นี้มีทั้งการร่วมมือกันในแนวราบ คือ การร่วมมือระหว่างสหกรณ์แต่ละสหกรณ์ด้วยกันและการร่วมมือกันในแนวดิ่ง คือ การร่วมมือระหว่าง สหกรณ์กับชุมชนสหกรณ์ในระดับจังหวัด ระดับชาติ และความร่วมมือกันระหว่างประเทศ
ความร่วมมือกันนี้ แสดงให้เห็นถึงความสามัคคี มีเมตตา พร้อมที่จะเกื้อหนุนซึ่งกันและกันแท้จริงการร่วมมือระหว่างสหกรณ์เป็นหลักการเดียวกันกับการร่วมมือระหว่างบุคคลธรรมดาในการจัดตั้งสหกรณ์นั่นเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดการประหยัดด้วยขนาด มีอำนาจการต่อรองสูงขึ้น และนำไปสู่การรับใช้สมาชิกอย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์สำคัญของการร่วมมือระหว่างสหกรณ์ คือ เพื่อสหกรณ์สามารถอำนาจผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นสหกรณ์ท้องถิ่นแต่ละสหกรณ์ และสหกรณ์ขั้นสูงต้องเป็นสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืน มีชีวิตชีวา (Viable & Sustainable) และร่วมมือกันในลักษณะของ “ระบบรวม” หรือเป็นเอกภาพ