เนื้อหา |
---|
แนวทางการบริหารจัดการ
การพัฒนาอาหาร โภชนาการ และสุขภาพอนามัยในโรงเรียน
การดำเนินงานพัฒนาอาหาร โภชนาการ และสุขภาพอนามัยในโรงเรียนอย่างครบวงจร สม่ำเสมอต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อให้ผลของการพัฒนาเกิดขึ้นกับตัวเด็กนักเรียนทุกคนดังพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีนั้น จำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการ บริบทของชุมชน และวัฒนธรรมประเพณี ต่อไปนี้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการการดำเนินงานพัฒนาอาหาร โภชนาการ และสุขภาพในโรงเรียนเป็นบทเรียนจากโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ
การเกษตรในโรงเรียน
การเกษตรในโรงเรียน เป็นกิจกรรมสำคัญอันดับแรกที่โรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริทุกโรงเรียนดำเนินการจุดมุ่งหมายของการเกษตรในโรงเรียน คือ
1. ผลิตวัตถุดิบอาหารสำหรับใช้ในการจัดอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนทุกคนทุกวัยเรียน
2. พัฒนาเด็กนักเรียนทุกคนให้มีความรู้ทักษะและทัศนคติที่ดีทางการเกษตรผสมผสาน เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตในอนาคต
การเกษตรในโรงเรียน จะครอบคลุมกิจกรรมทุกขั้นตอนตลอดระบบการผลิตอาหาร ได้แก่ ปัจจัยการผลิต กระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยวผลผลิต การแปรรูป การจำหน่ายและการกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภค
ระบบการผลิตอาหารในโรงเรียน

บุคลากรที่เกี่ยวข้อง บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการทำการเกษตรในโรงเรียน ได้แก่ 1) นักเรียน 2) ครู 3) ชุมชน
(1) เด็กนักเรียน เป็นบุคลากรหลักในการทำการเกษตรของโรงเรียน โดยทั่วไปโรงเรียนจะจัดการโดยแบ่งเด็กนักเรียน (ส่วนมากจะเป็นระดับชั้นประถม 4-6) เป็นกลุ่มการผลิตประเภทต่างๆ เช่น กลุ่มพืชผักไม้ผล กลุ่มเห็ด กลุ่มไก่ไข่ กลุ่มไก่เนื้อ กลุ่มปลาดุก ฯลฯ
การแบ่งกลุ่มเด็กนักเรียนมีวิธีดำเนินการได้ 2 วิธี คือ 1) ความสมัครใจของเด็กแต่ละคน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความชอบและความสนใจ วิธีการนี้พบว่าเด็กนักเรียนต้องทำ วิธีการนี้ครูจำเป็นต้องปลูกฝังทัศนคติที่ดีควบคู่ไปกับการทำกิจกรรม ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการจัดกลุ่มเด็กนักเรียน คือ ผู้ปกครอง ซึ่งมีทัศนคติว่างานเกษตรเป็นงานหนัก โดยเฉพาะการปลูกพืชผัก ต้องขุดดิน ทำให้ไม่อยากให้บุตรหลานของตนทำงานนี้
บทบาทหน้าที่ของเด็กนักเรียนในแต่ละกลุ่มมีดังนี้
- รับผิดชอบดูแลการผลิต ตลอดระบบการผลิต ตั้งแต่ปัจจัยการผลิตจนถึงการจำหน่าย
- จดบันทึกการทำงานของตนเองในแต่ละวัน
- จดบันทึกผลผลิตที่ได้
- จัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
นอกจากรับผิดชอบหลักในแต่ละกลุ่มแล้ว ในบางโรงเรียนจะมอบหมายให้เด็กนักเรียนชั้นประถม 4-6 ทุกคนเป็นเจ้าของแปลงผัก 1-2 แปลง และเด็กนักเรียนชั้นประถม 1-3 ซึ่งยังเล็กอยู่เป็นผู้ช่วยในการรดน้ำผัก
ผลตอบแทนที่เด็กนักเรียนได้รับ มักเป็นผลผลิตที่ตนเองผลิต เช่น กลุ่มไก่ไข่ ทุกวันศุกร์จะมีการแบ่งไข่ให้เด็กนักเรียนคนละ 3 ฟอง/สัปดาห์ กลุ่มผักให้เจ้าของแปลงคนละ 2 ครั้ง/รุ่น (คนละ 1 หม้อ) กลุ่มเลี้ยงปลาดุก ได้รับเงินปันผล
(2) ครู เป็นบุคคลที่เป็นผู้ผลักดัน อำนวยการ จัดหาปัจจัย จัดสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานเพื่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน
- ครูใหญ่ เป็นผู้แต่งตั้งหรือมอบหมายครูรับผิดชอบงานเกษตร โดยมีวิธีการคัดเลือกครูเกษตร ดังนี้ 1) เลือกครูที่มีพื้นฐานทางการเกษตร เช่นมีคุณวุฒิทางเกษตรหรือมาจากครอบครัวเกษตรกรรม 2) เลือกจากครูที่มีความสนใจ
- ครูผู้รับผิดชอบงานเกษตร หรือเรียกชื่อว่า ครูเกษตรอาจมี 2-3 คน เพื่อแบ่งงานกัน เช่น ครูกลุ่มพืชผัก-ไม้ผล-เห็ด ครูกลุ่มปลา ครูกลุ่มปศุสัตว์ ครูเกษตรมีบทบาทหน้าที่ดังนี้
+ จัดทำแผนการผลิต และดำเนินการให้ได้ตามแผน
+ ประสานกับครูที่รับผิดชอบอาหารกลางวัน เพื่อนำผลผลิตไปประกอบอาหาร
+ ลงมือปฏิบัติร่วมกับเด็กนักเรียน ไปพร้อมๆ กับถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กนักเรียน
+ ตรวจบันทึกการทำงานของเด็กนักเรียน
+ ควบคุมกองทุนการผลิตของกลุ่มการผลิตที่ตนรับผิดชอบ
- ครูอื่นๆ ในโรงเรียน นอกจากครูที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบหลักแล้ว ในบางโรงเรียนอาจให้ครูทั้งโรงเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเกษตรของโรงเรียนโดยจัดเวรลงปฏิบัติงาน เช่น ดูนักเรียนลงแปลงรดน้ำผักให้อาหารสัตว์ ทำความสะอาดแปลง เป็นต้น
(3) ชุมชน มีบทบาทในการออกแรงพัฒนาบุกเบิกพื้นที่การเกษตรของโรงเรียน ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานมาก เกินกว่าที่นักเรียนจะดำเนินการได้ด้วยตนเอง เป็นการแบ่งเบาภาระของโรงเรียน หลังจากนั้นนักเรียนสามารถมาทำกิจการรมได้สะดวกขึ้น เช่น การถางหญ้าตัดกิ่งไม้ การยกแปลง การก่อสร้างซ่อมแซมรั้วโรงเรียน การก่อสร้างคอกสัตว์ โรงเพาะเห็ด เป็นต้น โดยทั่วๆ ไปชุมชนจะมาช่วยพัฒนาโรงเรียนเดือนละ 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการร้องขอจากโรงเรียน นอกจากนี้ชุมชนยังสามารถบริจาคมูลสัตว์มาเป็นวัสดุในการปรับปรุงบำรุงดินของโรงเรียนด้วย บริจาคพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ในบางแห่งที่พื้นที่โรงเรียนน้อยไม่สามารถทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้ ชุมชนยังให้โรงเรียนยืมที่สำหรับการปลูกพืชอายุสั้น หรือบริจาคผลผลิตทางการเกษตรของตนเองให้กับโรงเรียน แล้วแบ่งปันผลผลิตกัน
การจัดการผลผลิตทางการเกษตร เมื่อกลุ่มผลิตทางการเกษตรมีผลผลิตแล้ว ก็จะนำมาขายผ่านร้านค้าสหกรณ์ หากผลผลิตอาหารสดมีเหลือก็ทำการแปรรูปถนอมอาหารต่อไป
การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรผ่านร้านสหกรณ์ เป็นพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ให้โรงเรียนมีการดำเนินกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ซึ่งจะมีการจัดตั้งร้านค้าสหกรณ์ขึ้นภายในโรงเรียน และใช้เชื่อมโยงกับกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรของโรงเรียน ในการจำหน่ายผลผลิต กลุ่มผลิตจะเป็นผู้กำหนดราคาขายให้แก่ร้านค้าสหกรณ์ ร้านค้าสหกรณ์จะขายผลผลิตนี้ให้แก่โรงครัวของโรงเรียน โดยครูผู้รับผิดชอบอาหารกลางวันจะใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากกองทุนอาหารกลางวันของรัฐบาล ซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และราคาถูกกว่าท้องตลาดจากสหกรณ์ ไม่ต้องเดินทางไปซื้อในที่ไกล ๆ สหกรณ์ทำบัญชี ออกใบเสร็จรับเงินให้ หากผลผลิตมีเหลือร้านค้าก็สามารถขายให้แก่ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน หรือแม้แต่ครูได้ เงินรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรจะกลับคืนสู่กลุ่มผลิตทางการเกษตรของโรงเรียน ทำให้การเกษตรในโรงเรียนมีความยั่งยืนได้ นอกจากนี้หากกลุ่มผลิตต้องการปัจจัยการผลิต ก็สามารถสั่งผ่านสหกรณ์เพื่อให้ช่วยหาซื้อให้กลุ่มด้วย
การจัดการผลผลิตของกลุ่มผลิตทางการเกษตรโดยจำหน่ายผ่านร้านค้าสหกรณ์ของโรงเรียน

การแปรรูปและถนอมอาหาร ปัจจุบันหลายโรงเรียนสามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรบ่งอย่างได้ในปริมาณมาก เช่น ปลาดุกไขไก่ ผักกาด อีกทั้งบ่างพื้นที่ยังสามารถหาของพื้นบ้านหรือของป่าได้จำนวนหนึ่ง ทำให้นำมาใช้แปรรูปเพื่อเก็บไว้สำหรับบริโภคในวันอื่นๆ หรือบางส่วนก็นำไปจำหน่ายผ่านร้านสหกรณ์ได้ ตัวอย่างเช่น การทำปลาตากแห้ง ปลาแดดเดียว ปลาร้า ไข่เค็ม ผักกาดดอง หน่อไม้ดอง