เนื้อหา |
---|
สหกรณ์นักเรียน
พระราชดำริของสมเด็จพระเทพรรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ให้โรงเรียนดำเนินกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน มีจุดมุ่งหมาย คือ1. เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ คุณธรรมในการดำรงชีวิตร่วมกันในสังคม โดยกระบวนการสหกรณ์
2. ฝึกฝนนักเรียน ให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการทำงานสหกรณ์ เช่น การทำงานร่วมกัน การประชุม การทำบัญชี การค้าขาย เป็นต้น
นอกจากนี้กิจกรรมสหกรณ์นักเรียนยังเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงกับการพัฒนาใน
ด้านอื่นๆ ทำให้เกิดการบูรณาการกิจกรมต่างๆ สมบูรณ์ขึ้น

สหกรณ์นักเรียนจึงเป็นกิจกรรมของนักเรียน จัดตั้งขึ้นและดำเนินการโดยนักเรียน และมีนักเรียนเป็นสมาชิก ในการจัดสหกรณ์นักเรียน จะมีครูที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบกิจกรรมสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือ ให้คำแนะนำเด็กนักเรียนในการดำเนินงาน ตามขั้นตอนตังนี้
ขั้นตอนที่ 1 รับสมัครเป็นสมาชิก ด้วยความสมัครใจ และเปิดกว้างสำหรับนักเรียนทุกคนการสมัครสมาชิกสหกรณ์นักเรียน จะเก็บค่าหุ้น
ขั้นตอนที่ 2 ประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการสหกรณ์นักเรียนมาดำเนินกิจการสหกรณ์ คณะกรรมการสหกรณ์นักเรียนมีวาระในการทำงาน 1 ปีการศึกษา หรือบางแห่งอาจทำได้บ่อยขึ้นเป็น 1 ภาคการศึกษา
ขั้นตอนที่ 3 ประชุมคณะกรรมการสหกรณ์นักเรียน เดือนละครั้งเพื่อวางแผนการปฏิบัติงาน การซื้อ-ขาย การตลาด ฯลฯ
ขั้นตอนที่ 4 ดำเนินการ มีกิจกรรมสหกรณ์นักเรียนให้นักเรียนทดลองปฏิบัติ 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมร้านค้า กิจกรรมออมทรัพย์และกิจกรรมส่งเสริมการผลิต
ขั้นตอนที่ 5 การทำบัญชีประจำวัน มีทั้งบัญชีรับ – จ่าย บัญชีสินค้า บัญชีสมาชิก ฯลฯ สรุปบัญชี ผลกำไร/ขาดทุน และนำข้อมูลมาวางแผนต่อไป
ขั้นตอนที่ 6 สรุปผลการดำเนินงานตามวาระของคณะกรรมการสหกรณ์นักเรียน จัดสรรผลกำไร เป็นเงินปันผลให้แก่สมาชิก บางส่วนสะสมไว้เป็นเงินทุนของสหกรณ์และเป็นเงินบริจาคสำหรับทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์

ตลอดขั้นตอนของการดำเนินงาน เด็กนักเรียนจะได้รับการปลูกฝังและพัฒนาทักษะและลักษณะนิสัยของการพึ่งตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม การทำงานร่วมกันอย่างมีระบบและแบบแผน การจดบันทึก การจัดทำบัญชี หลักประชาธิปไตย
สหกรณ์นักเรียนตามพระราชดำริ จะช่วยเชื่อมโยงโครงการต่างๆในโรงเรียน เช่น
- การเกษตร สหกรณ์นักเรียนรับซื้อผลผลิตจากฟาร์มของโรงเรียน หรือแม้แต่ของที่ผลิตได้ในท้องที่ มาวางจำหน่ายให้แก่โรงครัว ผู้ปกครอง และชุมชน
- การประกอบอาหารกลางวัน โรงครัวของโรงเรียนซื้อวัตถุดิบจากฟาร์มโรงเรียนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และราคาถูกกว่าท้องตลาดจากสหกรณ์ นอกจากนี้สหกรณ์ยังช่วยหาซื้อเครื่องปรุง ของแห้งมาจำหน่ายด้วย
- การฝึกอาชีพ เช่นการแปรรูปอาหารหรือหัตถกรรม อาจต้องใช้เงินลงทุน สหกรณ์จึงเป็นแหล่งเงินทุนให้กลุ่มกู้ยืม หรือหากต้องซื้อวัตถุดิบบางอย่าง สหกรณ์สามารถซื้อในราคาขายส่งมา แล้วมาขายให้สมาชิก และเมื่อมีผลงานที่ผลิตได้ ก็นำมาขายผ่านสหกรณ์ เพราะเป็นศูนย์รวม ทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคน
- การพัฒนาทักษะของนักเรียนในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารบริโภค โดยผ่านร้านสหกรณ์ เช่นการเลือกซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมาย อย. การดูวันที่ผลิต วันหมดอายุ