เนื้อหา |
---|
พนักงานขายควรรู้จักหน่วยงานราชการที่ดูแลด้านการอุปโภคบริโภคสินค้าหรือบริการของประชาชน

การคุ้มครองผู้บริโภค
รัฐบาลคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยในการบริโภคสินค้าและบริการ และจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้ทราบและตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตนในการบริโภคในชีวิตประจำวัน รวมทั้งทำหน้าที่คอยตรวจสอบสินค้าและบริการที่ผลิตและเสนอขายในตลาด เกี่ยวกับคุณภาพและราคาที่เสนอขายอย่างยุติธรรม
สิทธิผู้บริโภค 5 ประการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้ความสำคัญของคุ้มครองผู้บริโภค โดยบัญญัติถึงสิทธิองผู้บริโภคไว้ในมาตรา 57 ว่า"สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541
ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้
1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่ จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม
2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม
3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว
4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ
5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว
ดังนั้น พนักงานขายจึงจำเป็นต้องรอบรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เมื่อประกอบอาชีพขายตามกฎระเบียบของกิจการแล้ว ต้องรู้ว่ากำลังขายสินค้าที่ถูกกฎหมาย ไม่เช่นนั้น อาจถูกผู้บริโภคฟ้องร้องตามสิทธิได้ เมื่อลูกค้าสนใจสินค้า และศึกษารายละเอียดบนฉลากสินค้าที่มีข้อความครบถ้วนถูกต้อง ก็เป็นการยืนยันคุณภาพของสินค้าที่พนักงานขายนำเสนอขาย ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ และตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
ฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก จะต้องระบุข้อความต่อไปนี้
- ชื่อประเภทหรือชนิดของสินค้า
- ชื่อหรือเครื่องหมายการค้า
- ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทย
ของผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย
- ที่อยู่-สถานที่ตั้ง ผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย /ผู้นำเข้า ที่สามารถติดต่อได้จริง
- ขนาด, มิติ ,ปริมาณ,ปริมาตร,น้ำหนัก หรือจำนวนบรรจุ
- วิธีใช้
- ข้อแนะนำในการใช้หรือห้ามใช้
- คำเตือน ( ถ้ามี )
- วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือที่ควรใช้ก่อน
- ราคา พร้อมระบุหน่วยบาท
ถ้าเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง จะเพิ่มข้อความ “ เลขที่ใบรับแจ้ง”
ถ้าเป็นสินค้าประเภทอาหาร จะเพิ่มข้อความ “ ฉลากโภชนาการ ”
